ประวัติเทศบาลตำบลรือเสาะ
คำว่า “รือเสาะ” เป็นภาษามลายู แปลว่า ต้นสักน้ำ เป็นพันธุ์ไม้ยืนต้นชนิดหนึ่งซึ่งมีในทางภาคใต้ ปัจจุบันยังมีให้เห็นอยู่ เช่น ที่บ้านรือเสาะ ตำบลรือเสาะ อำเภอรือเสาะ และที่ป่าพรุโต๊ะแดง อำเภอสุไหงโก–ลก แต่เดิมบ้านรือเสาะมีพันธุ์ไม้ชนิดนี้มาก นอกจากการเรียกชื่ออำเภอรือเสาะแล้ว
ชาวพื้นเมืองยังนิยมเรียกชื่ออำเภอนี้ว่าอำเภอยะบะ ซึ่งคำว่า “ยะบะ” หมายถึง การแสดงคารวะ โดยการจับมือกันอันเป็นการแสดงไมตรีจิต อำเภอยะบะ จึงมีความหมายอีกนัยหนึ่งว่า เป็นอำเภอที่ผู้คนมีไมตรีจิตต่อกัน
คนเฒ่า คนแก่ เล่าให้ฟังว่า เมื่อ 40-50 ปีที่แล้ว รือเสาะมีความเจริญทางเศรษฐกิจรุ่งเรืองสูงสุด เพราะมีเส้นทางคมนาคมที่สะดวกและปลอดภัย คือ ทางรถไฟ การเดินทางสมัยนั้น นอกจากทางรถไฟแล้วก็มีการเดินทางเท้าโดยใช้ช้างเป็นหลัก
รือเสาะในสมัยนั้นถือได้ว่าเป็นศูนย์กลางทางการค้า และการคมนาคมขนส่ง มีสินค้าขาเข้าที่สำคัญคือ เครื่องอุปโภคบริโภค ของใช้ประจำวัน วัสดุก่อสร้างและเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ ส่วนสินค้าออกหลัก คือ ยางพารา ไม้
เครื่องเทศ และของป่าต่าง ๆ อาทิ งาช้าง
สมัยนั้น รือเสาะเป็นแหล่งขุดทองของผู้คนจากต่างถิ่น มีชาวจีนอพยพเข้ามาอาศัยและทำมาค้าขายในรือเสาะมากมาย ส่วนคนภาคอีสาน ก็อพยพเข้ามาขายแรงงานเป็นลูกจ้างในสวนยางพาราจำนวนมาก
กล่าวกันว่า ในสมัยนั้นขณะที่ยางพารากิโลกรัมละ 20 บาท แต่ทองคำมีราคาเพียงบาทละ 400 บาทเท่านั้น ดังนั้น คนรือเสาะจึงมีฐานะทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างดี
สำหรับปูชนียบุคคลรุ่นบุกเบิก ในสมัยนั้น มี 2 ท่านด้วยกัน
คือ ขุนอุปการประชากร และขุนสารกิจ โดยขุนอุปการประชากร เป็นชาวพุทธครอบครองที่ดินฝั่งตะวันออก และเป็นต้นตระกูล “อัครมาส”
ส่วนขุนสารกิจนั้นเป็นชาวมุสลิม ครอบครองที่ดินฝั่งตะวันตกและมีตำแหน่งเป็นกำนัน
ตำบลตำมะหงันเป็นต้นตระกูล “ซันดือเระโซ๊” บุคคลทั้ง 2 ท่าน มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการวางรากฐานของเมืองรือเสาะ เป็นผู้สร้างสาธารณูปโภคและสาธารณูปการมากมาย มาจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากขุนอุปการประชากร เป็นชาวพุทธจึงเป็นผู้สร้างวัดราษฎร์สโมสร
และสละทรัพย์สินที่ดินเพื่อก่อสร้างโรงเรียนบ้านยะบะ (อุปการวิทยา) ถนนและสถานที่ราชการต่าง ๆ
เทศบาลตำบลรือเสาะ ยกฐานะจากสุขาภิบาลเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2542 มีพื้นที่ 3.1 ตารางกิโลเมตร รูปร่างคล้ายไม้เทนนิส
ซึ่งส่วนที่เป็นหน้าไม้ คือพื้นที่ในเขตชุมชนตลาด และส่วนที่เป็นด้านนั้น เรียงยาวไปสิ้นสุดที่บ้านท่าเรือ เขตของเทศบาลครอบคลุมพื้นที่ 2 ตำบล คือ ตำบลรือเสาะ และตำบลรือเสาะออก